กระแสความนิยมปลาคาร์พของผู้เลี้ยงปลาเมืองจันทบุรี ตอนพิเศษ Kawarimono
คอลัมภ์ ปลาคาร์พฝีมือคนไทย หน้า 98 โดย :นายธนัท พัฒนภิรมย์
นิตยสาร Fancy Fish ปีที่ 4 ฉบับที่ 44 เดือนมิถุนายน 2547
จากการนำเสนอข้อมูลกระแสความนิยมปลาคาร์พของจันทบุรีมาหลายฉบับนั้น ได้มีการนำเสนอข้อมูล สาระต่าง ๆ มากมายทั้งในส่วนผู้เลี้ยง และผู้เพาะเลี้ยง ในส่วนนี้เองได้มีการกล่าวถึงปลาคาร์พสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ผู้เลี้ยงให้ความสนใจมากที่สุด และค่อนข้างให้ความสนใจแต่ยังไม่มากนัก Kawarimono ถือได้ว่า เป็นปลาแฟนซีคาร์พอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความสนใจและเลี้ยงกันมากในกลุ่มผู้เลี้ยงหลาย ๆ กลุ่มของจันทบุรี หลาย ๆ บ่อให้ความสำคัญกับปลากลุ่มนี้พอ ๆ กับ โคฮากุ ซันเก้ โชว่า ซึ่งเหตุผลก็ต่าง ๆนานา แต่ที่พอจะจับประเด็นมาได้ ก็มีอยู่สามสี่ข้อ ที่ทำให้ดูน่าสนใจในการเลี้ยงปลากลุ่มนี้ คือ
1. ปลาคาวาริโมโน เป็นปลาที่แปลกไม่เหมือนใคร สีสันแตกต่างกับปลากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งช่วยสร้างสีสันที่แตกต่างให้กับบ่อปลาของคุณ
2. ยิ่งโตยิ่งสวย ปลาในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเกล็ดด้อยซ์ (เกล็ดใหญ่) เมื่อปลาโตได้ขนาดะยิ่งแสดงความสมบูรณ์ของเกล็ดที่ชัดเจนขึ้น
3. สีสัน และโครงสร้าง ของปลากลุ่มนี้ค่อนข้างสมบรูณ์ เนื่องจากต้นกำเนิดของสายพันธุ์มีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับผู้เพาะพันธุ์ หากต้องการสีสันแบบไหน
จากการเยี่ยมชมบ่อปลาคาร์พของจันทบุรีมาหลาย 10 บ่อ และได้พบปะผู้ขาย และผู้เพาะเลี้ยงส่วนใหญ่ก็ได้เล็งเห็นว่าปลาในกลุ่มคาวาริโมโน ถือเป็นปลาที่สามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด การแปลกแยกที่เกิดจากการผ่าเหล่าด้วยความบังเอิน หรือตั้งใจนั้น ก็สร้างปลาคาร์พสายพันธุ์ต่าง ๆ ออกมามากมายที่สำคัญปลาในกลุ่มคาวาริโมโนน่าจะเป็นอีกทางเลือกของผู้เลี้ยงได้ในอนาคต ( สำหรับผู้ที่ต้องการความแปลกใหม่ไม่จำเจ )
Kawarimono (คาวาริโมโน) เป็นปลาคาร์พที่เกิดมาจากปลากลุ่มต่าง ๆ แต่ไม่ได้ถูกจัดเข้ากลุ่มนั้นแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะลักษณะต่าง ๆ ของปลาไม่เข้าข่ายปลากลุ่มนั้น ๆ และตามความหมายของคำว่าKawari นั้นจะแปลได้ว่า เปลี่ยน นอกคอก หรือไม่เหมือนใคร ตามแต่จะให้ความหมายกัน จึงมีการนำปลาที่แปลกแยกนั้น มาจัดเข้าในกลุ่มใหม่ แต่ยังแสดงลักษณะของต้นกำเนิดของสายเลือด โดยจะเลือกชื่อสายพันธุ์เดิมและเพิ่มชื่อตามกลุ่มที่ใกล้เคียงต่อท้าย เช่น Shiro-Mutsuba เป็นมัตจึบะที่มีขอบเกล็ดเป็นสีขาวเท่านั้นเอง
ปลาคาร์พเกล็ด Doitsu น่าจะเป็นเอกลักษณ์ของปลาคาวาริโมโนจันทบุรีไปแล้ว ที่สำคัญในกลุ่มนี้จะผสมพันธุ์ให้ได้ปลาคาร์พเกล็ดด้อยซ์ที่มีสีของเกล็ดที่ดำมัน และวาวดุจดังโลหะที่มีประกายนั้น ต้องใช้การลองผิดลองถูก การจับคู่พ่อแม่พันธุ์จึงเป็นเรื่องที่ท้าท้าย
หากจะพูดถึงคาวาริโมโนของจันทบุรี ที่หลาย ๆ คนหามาเลี้ยงกันนั้น ก็คงต้องพูดถึง อาจารย์ศักดิ์ดา วานิชสรรพ์ โดยมีประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พนานกว่า 19 ปี และถือได้ว่าเป็นผู้ชำนาญในเรื่องของการเพาะขยายพันธุ์ปลาคาร์พ ประเภท KAWARIMONO มานานกว่า 4 ปี ปลาที่เพาะออกมาส่วนมากจะเน้นเรื่องของเกล็ดเป็นหลัก คือ เกล็ดต้องใหญ่ มันวาว หากเป็นเกล็ดด้อยซ์ก็ต้องเป็นด้อยซ์ใหญ่ สีสันจะเน้นหลักไปที่สีของโลหะ ซึ่งในท้องตลาดบ้านเราสีแบบนี้นับว่ามีน้อย เป็นทางเลือกให้กับผู้เลี้ยงได้อีกทางหนึ่ง
ปลาคาร์พที่ อ.ศักดิ์ดาได้มาจากการเพาะพันธุ์ โดยเป็นปลาคาร์พประเภท Kawarimano หลายรุ่นด้วยกันส่วนมากจะเป็นปลาเกล็ดใหญ่ ( Doitsu ) ซะส่วนใหญ่ ซึ่งปลาแต่ละรุ่นแสดงให้เห็นถึงเกล็ดที่มีความแวววาวเป็นพิเศษ ( ให้อาหารเร่งสีเลี้ยงมาระยะหนึ่ง ) และเกล็ดจะใหญ่กว่าทั่ว ๆ ไป
ปลาเกล็ดต่าข่ายในแบบของ Kawarimono ของจันทบุรี ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ชื่นชอบปลาเกล็ดตาข่าย โดยมีต้นแบบที่ใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์สลับกันเป็นที่รู้กันคือ อาซากิ และมัตซิบะ ร่วมกับปลาคาร์พชนิดอื่น จัดได้ว่าปลาคาวาริโมโนะนี้เป็นปลาจากสายพันธุ์ มัตจึบะ (Matsuba) และ มีสายพันธุ์ร่วมกับปลาอาซากิ โดยสืบสายพันธุ์มาจาก Konjo Asagi
จุดเด่นของปลาคาวาริโมโน นั้นอยู่ตรงที่ดึงเอาจุดเด่นหลาย ๆ อย่างของปลาแฟนซีคาร์พเข้าด้วยกัน สีในลักษณะโลหะมันวาว เกล็ดด้อยซ์จะใหญ่เป็นพิเศษ ที่สำคัญผู้เลี้ยงปลาคาร์พในจันทบุรีเท่าที่เราสอบถามมา ( สำหรับคนที่ชอบปลาชนิดนี้ ) ยิ่งปลาโตขึ้นก็ยิ่งสวย เกล็ดขยาย รูปร่างสมบรูณ์ สีสันแปลกและสีสันของปลาค่อนข้างสด ไม่ด้าน เกล็ดมันวาวเป็นประกาย
สำหรับการเพาะขยายพันธุ์คาวาริโมโนรุ่นหลัง ๆ นั้น ูมีความสมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งยังมีสายเลือดที่ดีขึ้นและไม่มีการนำสายเลือดเดียวกันมาผสมกันเพื่อป้องกันสายเลือดชิด การหาสายพันธุ์ต้นแบบที่สมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งที่คำนึงเป็นพิเศษ และจะดูตามวัตถุประสงค์ในการทำปลาแต่ละชุด และต้องมีการพัฒนาต่อ ๆ ไปจนแน่ใจว่าปลาชุดนั้นมีความนิ่งดีพอเพื่อดูพัฒนาการของปลาในครอกนั้นจะถึงที่สุด
Kawarimono อีกชนิดหนึ่งของจันทบุรี นำปลาเกล็ดด้อยซ์มาใส่สีสัน ให้เป็นแดงและขาว จะเรียกว่าอะไรดี แต่ที่สำคัญสีสันค่อนข้างสดใส และเกล็ดจะมันวาวมาก รูปร่างของปลาสมบรูณ์ หากได้ปลาที่มีการวางแพทเทรินที่ดีอย่างโคฮากุนั้น คาวาริโมโนแบบโคฮากุที่มีเกล็ดมันวาวก็น่าจะทำให้ผู้เลี้ยงหันมาสนใจได้บ้าง
เกณฑ์ หรือวิธีการในการเลือกปลากลุ่มคาวาริโมโน นั้นไม่มีอะไรตายตัว เนื่องจากปลากลุ่มนี้เป็นปลาที่มีโอกาสเปลี่ยแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับปลาจะแสดงลักษณะเด่นของสายเลือดไหนเป็นหลักดังนั้นการเลือกซื้อเลือกหานั้น ควรเน้นที่โครงสร้างและความสมบรูณ์ของเกล็ดเป็นอันดับต้น ๆ สีสันเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด
จากการเยี่ยมผู้เลี้ยงปลาคาวาริโมโนที่มีถิ่นกำเนิดในจันทบุรีนั้น ปลากลุ่มนี้ถือเป็นเรื่องที่ท้าท้ายและน่าสนใจ และเมื่อเลี้ยงปลาก็ยิ่งสวย (ตามความชอบของแต่ละคน)
กลุ่มเกล็ดวาวแบบโลหะนั้นเป็น กลุ่มที่แสดงถึงพัฒนาการและความแปลกใหม่ของปลาในกลุ่มนี้ได้ดีที่สุด เกล็ดแวววาวสะท้อนเป็นประกายแบบนี้ ยิ่งโดนแดดสีสันของเกล็ดยิ่งเป็นประกายสดใสเงินแวววาว เหลืองทองอำไพ สีทองแดงเป็นประกาย คำพูดเหล่านี้ใช้ได้เลยกับ Kawarimono ที่ปรุงแต่งขึ้นโดย อาจารย์ศักดิ์ดา วานิชสรรพ์
ปัญหาในการเลี้ยงปลา Kawarimono ส่วนมากปัญหามักจะเกิดกับปลาเกล็ดด้อยซ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนรู้กันคือ หากปลาเกล็ดหลุด โอกาสที่เกล็ดจะมานั้นมีน้อย เหมือน ๆ กับซูซุยแหละครับ ปัญหาอีกข้อที่ทุกคนมักจะพูดกันคือ คาดเดาการพัฒนาในส่วนของสีสันได้ยาก ตอนนี้เกล็ดสีนี้ ขอบเกล็ดสีนี้ ในอนาคตสีดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ หรือมีสีอื่น ๆ เพิ่มมาอีกก็ได้
สำหรับกลุ่มนี้เป็นปลาที่ออกมาน้อยมาก ยิ่งตัวเหลืองข้าวโพดนั้น มีออกมาน้อยมากสำหรับเกล็ดด้อยซ์ ส่วนตัวสีขาวเกล็ดด้อยซ์ที่ขอบเกล็ดขาว เกล็ดในเริ่มถูกแต้มด้วยสีดำ ก็หาปลาที่เกล็ดสมบูรณ์ได้น้อยอยู่ ดังนั้นการจะให้ปลามีรูปลักษณ์เช่นใดนั้น เป็นเรื่องที่ผู้เพาะขยายพันธุ์ต้องศึกษา และหาคำตอบเท่านั้นครับ
ทั้งหมดก็น่าจะเป็นข้อมูลให้ผู้ที่เลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พหลายคนหันมาให้ความสนใจปลาคาร์พฝีมือคนไทยกันมากขึ้นนะครับ หลายเดือนที่ผ่านมาก็มีฟาร์มปลาคาร์พของไทยเราเปิดตัวกันมากขึ้น น่าจะเป็นแน้วโน้มที่ดีของศักราชใหม่ต่อผู้เพาะปลาแฟนซีคาร์พของไทยเราได้แสดงฝีมือกันมากขึ้นในเวทีของการแข่งขัน
สำหรับท่านใดที่สนใจแวะชมได้ที่ 121 ถนนศรีวนดิษตถ์ อ. ท่าใหม่ จ. จันทบุรี หรือโทร 09-8343610 ศักดิ์ดา วานิชสรรพ์, 09-7485226 เสรี วานิชสรรพ์
คอลัมภ์ ปลาคาร์พฝีมือคนไทย หน้า 98 โดย :นายธนัท พัฒนภิรมย์
นิตยสาร Fancy Fish ปีที่ 4 ฉบับที่ 44 เดือนมิถุนายน 2547