คลินิกวิชาการสารสัมพันธ์
กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1
ปีที่ 2 ฉบับที่ 20 วันที่ 6 มิ.ย. 2567
วิสัยทัศน์ "นิเทศการศึกษาแนวใหม่ ใช้กระบวนการวิจัยและเทคโนโลยีเป็นฐาน ประสานเครือข่าย พัฒนาก้าวไกล สู่ Thailand 4.0"
วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นางธิติกาญจน์ พัฒน์อมรไชย นางนันทวรรณ คอนหน่าย นางสาวจิตรลดา สุภาพงษ์ และนางสาววรากร อัครจรัสโรจน์ เป็นตัวแทนของกลุ่มนิเทศฯ สพป.จันทบุรี เขต 1 ร่วมแสดงความยินดีกับ นางสาวกันยกานต์ บุญมานะ เนื่องในโอกาสได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเสม็ดโพธิ์ศรี(อุชุกวิทยาคาร) ณ โรงเรียนวัดเสม็ดโพธิ์ศรี(อุชุกวิทยาคาร)
วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 นางสาวเพลินพิศ กอบตระกูล ศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1 เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลครูผู้สอนดีเด่น ประจำปี 2567 ณ ห้องประชุมบุษราคัม สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจันทบุรี
วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 นางธิติกาญจน์ พัฒน์อมรไชย และนางนันทวรรณ คอนหน่าย เป็นตัวแทนของกลุ่มนิเทศฯ สพป.จันทบุรี เขต 1 ร่วมแสดงความยินดีกับ นางสาวรัชนีภรณ์ ศรีหวัง เนื่องในโอกาสได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองสีงา(ประถมบูรณ์รัฐราษฎร์สงเคราะห์) ณ โรงเรียนวัดหนองสีงา(ประถมบูรณ์รัฐราษฎร์สงเคราะห์)
วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 นายสุริยนต์ กัลยาณี ผอ.สพป.จันทบุรี เขต 1 เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ก.ต.ป.น.) โดยมี คณะกรรมการกตปน. คณะกรรมการ อตปส. และคณะศึกษานิเทศก์เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 สพป.จันทบุรี เขต 1
วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 นายสุริยนต์ กัลยาณี ผอ.สพป.จันทบุรี เขต 1 เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนตามแนวทางการประเมิน PISA 2025 โดยมีคณะศึกษานิเทศก์และทีมครูแกนนำ PISA ของเขตพื้นที่ เข้าร่วมการประชุม วางแผน และจัดทำแผนขับเคลื่อนพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียน ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 1 สพป.จันทบุรี เขต 1
โครงการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริมความสามารถทางภาษาของนักเรียนตามกรอบมาตรฐาน CEFR
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริมความสามารถทางภาษาของนักเรียนตามกรอบมาตรฐาน CEFR เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ภาษาอังกฤษของนักเรียนสู่ระดับสากล สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) และนโยบายด้านการสนับสนุนและพัฒนาโรงเรียนคุณภาพที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการเพื่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งนี้โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1) เพื่อจัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้ครูมีทักษะการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษโดยใช้สื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม และหลักการของเกม (Gamification)
2) เพื่อพัฒนาครูให้มีทักษะการจัดการเรียนรู้โดยใช้หลักสูตรพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริมความสามารถทางภาษาของ
นักเรียนตามกรอบ CEFR
3) เพื่อให้นักเรียนมีความสามารถทางภาษาอังกฤษตามกรอบ CEFR ผ่านการจัดการเรียนรู้ของครูที่ได้รับการพัฒนาตามหลักสูตรฯ
4) เพื่อคัดเลือกต้นแบบ (Best Practice) การจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามกรอบ CEFR ในการพัฒนาภาษาอังกฤษของนักเรียนประถมศึกษาให้ได้ตามกรอบ CEFR
5) เพื่อศึกษาผลการพัฒนาการวัดและประเมินผลของครูและนักเรียนรายบุคคลที่ผ่านการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริม
ความสามารถทางภาษาของนักเรียนตามกรอบ CEFR โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียนคุณภาพระดับประถมศึกษา จำนวน 901 โรงเรียน ครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียนคุณภาพระดับประถมศึกษาและนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนคุณภาพ จำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 คน
CEFR สำคัญกับผู้เรียนภาษาอย่างไร?
1.มาตรฐานนานาชาติ: CEFR ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นตัวชี้วัดความสามารถทางใช้ภาษาที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก โดยแต่ละระดับจะได้รับความคิดเห็นที่มาจากผู้เชี่ยวชาญทางภาษาและการเรียนรู้จากทั่วโลก ซึ่งในแต่ละภาษาอาจมีตัวชี้วัดที่แตกต่างกันออกไป
2.การวัดและประเมิน: ช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนสามารถวัดและประเมินระดับความรู้และทักษะทางภาษาของผู้เรียนอย่างเปรียบเทียบได้ มีการใช้ระบบการแบ่งระดับที่ชัดเจนเพื่อบ่งบอกถึงความก้าวหน้าในการเรียนรู้
3.การวางแผนการสอน: ผู้สอนสามารถใช้หลักการของ CEFR เพื่อวางแผนการสอนที่เหมาะสมตามระดับความรู้และทักษะของผู้เรียน ช่วยให้การสอนเป็นไปได้อย่างที่เข้าใจและมีประสิทธิภาพ
4. การสื่อสารระหว่างประเทศ: ช่วยให้คนที่มาจากประเทศและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันสามารถสื่อสารกันได้ มีการใช้ระดับที่มีความถูกต้องและเปรียบเทียบได้ในการบ่งบอกความสามารถทางภาษา
5.การศึกษาต่อและการทำงาน: มีความเชื่อมโยงกับการศึกษาต่อและการทำงานในระดับที่ต่างกันช่วยในการสนับสนุนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและการพัฒนาทักษะทางภาษาในสายอาชีพ นอกเหนือจากความสำคัญข้างต้นแล้ว CEFR ยังช่วยในการประเมินระดับความรู้และทักษะทางภาษาของบุคคล ดังนั้น จึงถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งผลในการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและความสามารถในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และอาชีพการงานได้