คลินิกวิชาการสารสัมพันธ์
กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1
ปีที่ 2 ฉบับที่ 7 วันที่ 15 ก.พ. 2567
วิสัยทัศน์ "นิเทศการศึกษาแนวใหม่ ใช้กระบวนการวิจัยและเทคโนโลยีเป็นฐาน ประสานเครือข่าย พัฒนาก้าวไกล สู่ Thailand 4.0"
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 นางลัดดาวัลย์ วิเศษะภูติ รองผอ. สพป.จันทบุรี เขต 1 และคณะศึกษานิเทศก์ โดย นางขวัญฤดี ไชยชาญ นางนันทวรรณ คอนหน่าย และนางสาวสกุลยา ผลบุญ เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ โรงเรียนศรียานุสรณ์
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นางลัดดาวัลย์ วิเศษะภูติ รองผอ. สพป.จันทบุรี เขต 1 และคณะศึกษานิเทศก์ เข้าร่วมประชุมการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย "1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ผ่านระบบZoom Cloud Meeting ณ ห้องประชุม TEPE Online
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 นางลัดดาวัลย์ วิเศษะภูติ รองผอ. สพป.จันทบุรี เขต 1และคณะศึกษานิเทศก์ จัดประชุมคณะกรรมการดำเนินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2566 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ระดับสนามสอบ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 สพป.จันทบุรี เขต 1
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นางลัดดาวัลย์ วิเศษะภูติ รองผอ. สพป.จันทบุรี เขต 1และคณะศึกษานิเทศก์ จัดประชุมคณะกรรมการคุมสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2566 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ระดับสนามสอบสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 สพป.จันทบุรี เขต 1
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 นายวริทธิ์นันท์ วิทยม ศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1 ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลหลักสูตรสถานศึกษาในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดจันทบุรี ณ โรงแรมมณีจันท์รีสอร์ท
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 คณะศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1 รับส่งเอกสารการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2566 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ศูนย์สอบ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 คณะศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1 รับส่งเอกสารการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2566 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ศูนย์สอบ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1
-------------------------------------------------------------------------
SDGs คืออะไร
ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 (The 70th session of the United Nations General Assembly) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 ได้จัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) โดยมติที่ประชุมกำหนดเป็นมิติการพัฒนาที่ยั่งยืนสี่ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการ โดยครอบคลุมเป้าหมาย 17 ข้อ ดังนี้
โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยกับการจัดการศึกษาเพื่อความยั่งยืน
โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ได้กำหนดขอบเขตการศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development : ESD) โดยเชื่อมโยงและประยุกต์มิติการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ มาปรับให้เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย ซึ่งดัดแปลงเป็นสามเหลี่ยมของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Triangle) ประกอบด้วยสามด้าน แต่ละด้านมีความสัมพันธ์กันและต้องรักษาสมดุลกัน ได้แก่ ด้านสังคม (Society)ด้านเศรษฐกิจ (Economy) และ ด้านสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ (Environment/Ecology)
แนวคิดสำคัญในการจัดการการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เปลี่ยนจากการจัดการศึกษาแบบเดิม คือ มนุษย์เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Human Center) เน้นพัฒนาตัวเด็กให้เป็นคนเก่ง มีความสามารถ เปลี่ยนเป็นส่งเสริมและพัฒนาให้เด็กคำนึงว่า โลกเป็นศูนย์กลาง (Earth Center) ของการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ที่จะต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ผู้เรียนเกิดความตระหนัก (Realize) ในประเด็นปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับโลก นำไปสู่การลงมือ (Act) ร่วมจัดการกับปัญหา และเสริมศักยภาพ (Empowerment) ให้แก่ผู้เรียนจัดการกับปัญหา แม้ผู้เรียนจะเกิดความตระหนักรู้ถึงปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหามลพิษ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ไม่ได้ลงมือแก้ปัญหา หรือไม่รู้ว่าควรจะลงมือแก้ปัญหาอย่างไร ดังนั้นแนวทางการจัดการเรียนรู้ จะเน้นที่การลงมือ (Action) ในการจัดการกับปัญหาในชีวิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
แนวทางการจัดการเรียนการสอนด้านการศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย
แนวคิดการส่งเสริมและพัฒนาเด็กตามแนวทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องมีการบริหารจัดการที่รวมพลังขับเคลื่อนทุกภาคส่วนในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสถานศึกษา บทบาทในการกำหนดกรอบของการลงมือปฏิบัติอย่างยั่งยืน จึงควรมีการบริหารจัดการและกำหนดกระบวนการ แนวคิดและกลวิธีสอนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สิ่งที่สำคัญและให้ความสำคัญมาก คือ การพัฒนาคุณสมบัติครูผู้สอนที่สะท้อนออกมาเป็นค่านิยมที่แสดงออกในภาคปฏิบัติ (Practiced values) ดังนั้น ครูจะทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของเด็ก (Facilitators) และเป็นต้นแบบ (Role models) ครูผู้สอนควรพัฒนาความเข้าใจในเป้าหมาย และการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก ๆ
สิ่งสำคัญในการจัดการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ควรเริ่มต้นจากเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัว
- ควรส่งเสริมให้เด็กประมวลความรู้จากประสบการณ์และต่อเติมความรู้ใหม่
- การจัดการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
- ควรเน้นกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง และใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหา
- ควรใช้คำถามหรือการสนทนา เพื่อเชื่อมโยงกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างดำเนินกิจกรรม
แนวทางการจัดการเรียนรู้
กระบวนการสืบเสาะ
ในทางวิทยาศาสตร์ การหาคำตอบให้กับคำถาม และการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้มาด้วยการค้นหาอย่างมีระบบและมีเป้าหมาย เด็ก ๆ ก็เช่นกัน พวกเขาสำรวจโลกของตัวเองอย่างมีระบบ มีการตั้งคำถามเป็นพื้นฐานและใช้เป็นจุดเริ่มต้นของคำถามและการสังเกตด้วยความสงสัยของพวกเขา ในทางหนึ่ง กระบวนการตั้งคำถามของเด็ก ๆ จะคล้ายคลึงกับนักวิจัย หรือนักวิทยาศาสตร์ เพียงแต่ว่าเด็กจะต่างจากผู้ใหญ่ในเรื่องของการตระหนักถึงพฤติกรรมของตัวเองและการดำเนินการอย่างเป็นระบบ
กระบวนการสืบเสาะคือแบบจำลองหรือเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ครูเห็นว่าพวกเขาจะทำกิจกรรมสืบเสาะกับเด็ก ๆ และจะมีส่วนร่วมกับการสนทนาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์กับเด็ก ๆ ได้อย่างไร วิธีการนี้จะต้องนำด้วยคำถามปลายเปิด อย่างไรก็ตาม ในการสอนแต่ละวัน ผู้สอนไม่จำเป็นต้องทำแบบเดิมทุกครั้งไป
วิสัยทัศน์ของโครงการ
- ยกระดับการศึกษาปฐมวัยและประถมศึกษาผ่านการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบสืบเสาะ (Inquiry) เพื่อส่งเสริมให้เด็กรู้จักสักเกต คิด ตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตนเอง
- วางรากฐานทักษะการเรียนรู้ของเด็กในระยะยาว จนเติบโตเป็นทรัพยกรณ์มนุษย์ที่มีคุณภาพต่อประเทศไทย
- ปลูกฝังแนวทางการเรียนรู้อย่างยั่งยืนให้กับโรงเรียนและชุมชน โดยคำนึงถึงบริบทในท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ ผ่านการขับเคลื่อนผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น (Local network)
- พัฒนาคุณภาพครูด้านเทคนิคการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา จนเข้าใจกระบวนการสืบเสาะ (Inquiry) อย่างแท้จริง
สิ่งที่ต้องมีมาก่อน คือ ประสบการณ์พื้นฐาน
ในชีวิตประจำวัน เด็กก็เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ พวกเขามักจะค้นพบและทดลองสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เมื่อทำเช่นนี้พวกเขาก็จะได้เพิ่มพูนประสบการณ์พื้นฐานผ่านปรากฏการณ์และวัตถุต่าง ๆ เพื่อที่จะได้พัฒนาไปสู่คำถามและข้อสันนิษฐาน เด็ก ๆ จำเป็นต้องมีประสบการณ์ขั้นพื้นฐานเหล่านี้ก่อน
การถามคำถาม : ส่งเสริมให้เด็ก ๆ ตั้งคำถามจากปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็นในระหว่างการค้นคว้าที่พวกเขาสนใจ และเจาะจงพูดถึงคำถามที่ได้จากความสนใจนั้น แน่นอนว่าคุณครูหรือผู้สอนยังสามารถสร้างปรากฏการณ์หรือคำถามนั้นได้เช่นกัน ตามหลักแล้วจะเริ่มจากการสังเกตของเด็ก ๆ
รวบรวมความคิดและตั้งข้อสันนิษฐาน : พูดคุยกับเด็ก ๆ ว่าพวกเขาได้รู้อะไรมาแล้วบ้างจากคำถามที่พวกเขาตั้ง และพวกเขามีข้อสรุปว่าอย่างไร วิธีการนี้เด็ก ๆ จะเห็นภาพว่าขั้นตอนที่ดีที่สุดเพื่อหาคำตอบให้กับคำถามเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น การทำการทดลองที่เหมาะสม
ทดสอบและปฏิบัติการสืบเสาะ : เด็กทุกคนควรมีเวลาที่เพียงพอสำหรับการลองทำตามความคิดของตนเองและทำกิจกรรมการสืบเสาะ ได้ทำตามสิ่งที่ตนเองวางแผนไว้และทดสอบซ้ำ
สังเกตและบรรยาย : ส่งเสริมให้เด็ก ๆ สังเกตและบรรยายสิ่งที่เห็นระหว่างการสืบเสาะของพวกเขาให้ถูกต้อง ด้วยวิธีนี้พวกเขาจะตระหนักได้ว่ากำลังสำรวจตรวจสอบอะไร และสิ่งที่พวกเขาสำรวจตรวจสอบเป็นอย่างไร
อภิปรายและสะท้อนคิด : ในขั้นตอนของการสะท้อนคิด หลังจากที่การทดลองของเด็กจบแล้ว เด็ก ๆ ควรจะได้พูดคุยเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับประสบการณ์และข้อค้นพบที่ได้รับมา ระหว่างขั้นนี้เด็ก ๆ จะได้มีโอกาสในการสร้างคำอธิบายของตนเองจากข้อค้นพบของพวกเขา
กระบวนการสืบเสาะ ไม่จำเป็นต้องทำครบทุกขั้น หรือทำตามลำดับที่กล่าวมาข้างต้น การสังเกตครั้งใหม่มักจะกระตุ้นให้เกิดการสำรวจตรวจสอบใหม่ ๆ ก่อนที่จะเกิดผลลัพธ์สำคัญของคำถามก่อนหน้าหรือเพื่อให้การสำรวจตรวจสอบนั้นมีรายละเอียดมากขึ้น เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ ที่ขั้นตอนในการตั้งคำถาม การตั้งสมมติฐาน การทดลอง การค้นหาผลลัพธ์และการตั้งคำถามเพิ่มจะเกิดขึ้นเป็นวงจรที่ต่อเนื่องกัน
วิสัยทัศน์ด้านการเรียนการสอน
เด็กส่วนใหญ่มักอยากรู้อยากเห็นและสนใจในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอยู่แล้ว ด้วยความช่วยเหลือจาก โครงการ "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” ครูผู้สอนเด็กระดับปฐมวัยและคุณครูระดับชั้นประถมศึกษาสามารถพัฒนาความเป็นมืออาชีพ เพื่อเพิ่มความสามารถในการบ่มเพาะความสนใจในธรรมชาติของเด็กในแนวทางที่เหมาะสม
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งการค้นหาของเด็ก ๆ ในตอนเช้า เมื่อนาฬิกาปลุกดัง ยาสีฟันแตกฟองขณะที่กำลังแปรงฟัน วิทยุมีเสียงเพลง โกโก้ร้อนมีไอน้ำออกมาจากถ้วย ระหว่างที่เดินทางมาโรงเรียน เด็ก ๆ สังเกตเห็นดอกไม้ที่เมื่อวันก่อนยังคงหุบอยู่ พวกเด็ก ๆ ต้องการที่จะกำโลกของพวกเขาไว้ในมือและเรียนรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากยิ่งขึ้น โอกาสมากมายเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ จะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ ข้อสงสัยของพวกเขาจะเป็นสิ่งสำคัญต่อการค้นคว้าและการสืบเสาะ
การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงปฐมวัยจะนำไปสู่อะไร
จุดประสงค์หลักของโครงการคือการส่งเสริมให้เด็กมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และบ่มเพาะความสามารถในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม เด็ก ๆ ไม่ควรได้เรียนรู้และสร้างคำอธิบายที่ "ถูกต้อง” สำหรับปรากฏการณ์ต่าง ๆ เพียงเท่านั้น พวกเขาควรได้มีส่วนร่วมในกระบวนการค้นคว้าด้วยการสืบเสาะเป็นฐาน ซึ่งสอดคล้องกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการนี้ประกอบด้วย การสังเกต การเปรียบเทียบ และการจำแนกประเภทที่เด็ก ๆ ใช้ในการสำรวจโลกรอบตัว
โครงการมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการมีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ไม่เพียงทำให้การมีส่วนร่วมในกระบวนการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น และสร้างความกระตือรือร้นที่จะสงสัยต่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เทคโนโลยี แต่ยังบ่มเพาะทักษะการใช้ชีวิตที่เด็ก ๆ จำเป็นต้องมีในระหว่างเส้นทางการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น ทักษะทางภาษา ทักษะทางสังคม และทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก นอกจากนั้น ยังเสริมสร้างให้เด็ก ๆ รับรู้ความสามารถของตนเองและความเข้มแข็งภายใน
เด็กเล็กจะมีความสามารถในการใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์หรือไม่
มีการค้นพบทางจิตวิทยาด้านพัฒนาการว่า แม้กระทั่งเด็กก่อนวัยเรียนก็ยังมีความสามารถในการใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ พวกเขาสามารถเสนอความคิดและข้อสันนิษฐาน ทดสอบจากการทำกิจกรรมการสืบเสาะของพวกเขา และสร้างข้อสรุปเบื้องต้น การศึกษาในเด็กปฐมวัยจึงตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ดีและบนการพัฒนาความสามารถของเด็ก ๆ
เด็กเรียนรู้อย่างไร"เด็กไม่ใช่แจกันที่รอให้คนมาใส่ แต่เป็นไฟที่รอให้คนมาจุด”- Francois Rabelais โครงการเห็นภาพของเด็กเป็นดังนี้
- เด็ก ๆ เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และทักษะ
- เด็ก ๆ ต้องการที่จะรู้
- เด็ก ๆ เล่นบทผู้กระทำเพื่อที่จะสร้างการเรียนรู้และพัฒนาการของตนเอง
- เด็กแต่ละคนแตกต่างกันเพราะบรรทัดฐานส่วนบุคคลและบุคลิกภาพ
- เด็ก ๆ มีสิทธิส่วนบุคคล
เด็ก ๆ จะได้รับการสนับสนุนจากการเรียนรู้แบบสืบเสาะเป็นฐานอย่างไร
การศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคม เด็กจะเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจากการให้กำลังใจ การค้นหาด้วยตนเอง และการสะท้อนคิด เด็กไม่เพียงเรียนรู้จากผู้ใหญ่ แต่ยังเรียนรู้จากการทำงานร่วมกับเด็กคนอื่น ดังนั้น จุดมุ่งหมายในการสอนของโครงการจะต่อยอดมาจากหลักการสอน 2 ประการ ก็คือ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน (Co-construction) และการรู้คิด (Metacognition)
สิ่งสำคัญที่จะต้องให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะเป็นฐาน
เริ่มต้นจากความรู้พื้นฐานของเด็ก ๆ เสมอ :ครูจะเข้าใจความคิดของเด็กและประสบการณ์พื้นฐานของพวกเขาโดยจะต้องรับฟังอย่างใกล้ชิด คอยสังเกต และคอยถามพวกเขาว่ามีข้อสันนิษฐานว่าอย่างไร
พูดคุยกับเด็ก ๆ :โดยการมีส่วนร่วมกับบทสนทนาของเด็ก ๆ ครูสามารถช่วยพวกเขาให้พัฒนาความคิดในขั้นตอนถัดไปได้ อย่าอธิบาย แต่ให้ใช้คำถามนำ
ส่งเสริมให้เด็กสะท้อนคิด :ถ้าเด็ก ๆ มีความคิดที่ "ไม่ถูกต้อง” อย่างเช่น "ลมเกิดจากต้นไม้” แสดงให้เห็นว่าความเข้าใจของพวกเขาอยู่ที่ไหนในตอนนี้ จุดสำคัญคือต้องดึงความสนใจของพวกเขาในเวลานั้น เพื่อแสดงความเป็นไปได้อื่นที่อยู่นอกเหนือความคิดของเด็ก เช่น ข้อเท็จจริงที่ว่าลมก็อยู่ในที่ที่ไม่มีต้นไม้ได้เช่นกัน ด้วยวิธีนี้ครูจะกระตุ้นให้เด็ก ๆ คิดทฤษฎีใหม่ด้วยตนเอง
ใบกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย
โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย สามารถทบทวบกิจกรรมหัวข้อต่าง ๆ ด้วยใบงานกิจกรรม ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
https://www.littlescientistshouse.com/download
-------------------------------------------------------------------------
ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลการตอบคำถามของสัปดาห์ที่ผ่านมา