นิเทศก์ news

คลินิกวิชาการสารสัมพันธ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 | กลุ่มนิเทศฯ สพป.จันทบุรี เขต 1

โดย - 6 กุมภาพันธ์ 2567

คลินิกวิชาการสารสัมพันธ์

กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1

ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 วันที่ 8 ก.พ. 2567

วิสัยทัศน์ "นิเทศการศึกษาแนวใหม่ ใช้กระบวนการวิจัยและเทคโนโลยีเป็นฐาน ประสานเครือข่าย พัฒนาก้าวไกล สู่ Thailand 4.0"


          วันที่ 29 มกราคม 2567  คณะศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1  โดย นางขวัญฤดี ไชยชาญ  นางธิติกาญจน์ พัฒน์อมรไชย  และนางสาวสกุลยา ผลบุญ  ร่วมกิจกรรมยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนO-NET  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ปีการศึกษา 2566  กลุ่มเครือข่าย 7 (คุ้งวิมาน)  ณ โรงเรียนวัดหนองแหวน (วิจิตรราษฎร์บำรุง)

 


          วันที่ 29 มกราคม 2567  นายวริทธิ์นันท์ วิทยม  ศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1  ลงพื้นที่นิเทศ กำกับติดตาม หลักสูตรลูกเสือ 4 ประเภท ให้มีความทันสมัย  ณโรงเรียนท่าใหม่พูลสวัสดิ์ (ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่) 


          วันที่ 30 มกราคม 2567  คณะศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1  จัดประชุมคณะกรรมการบริหารการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)  ปีการศึกษา 2566  ระดับศูนย์สอบ  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1  ณห้องประชุม 1 ชั้น 3 สพป.จันทบุรี เขต 1 


          วันที่ 31 มกราคม 2567  คณะศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1  ร่วมประชุมสื่อสารสร้างความเข้าใจแนวทางการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก ระดับปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ด้วยรูปแบบออนไลน์ (Zoom Meeting)  ณ ห้องประชุม TEPE Online


          วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567  นางขวัญฤดี ไชยชาญ  ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศฯ สพป.จันทบุรี เขต 1  ร่วมการประชุมคณะกรรมการประเมินคัดเลือกนักเรียนและสถานศึกษา  เพื่อรับรางวัลพระราชทาน  ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ประจำปี 2566  ครั้งที่ 1/2567  ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด 


          วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567  นางลัดดาวัลย์ วิเศษะภูติ รองผอ. สพป.จันทบุรี เขต 1  และคณะศึกษานิเทศก์ โดย นางมลฑา ศรีเสริม  นางนันทวรรณ คอนหน่าย  นางสาวพรรณิภา เจริญทวี  นายวริทธิ์นันท์ วิทยม  และนายพรณรงค์ ทรัพย์คง  ร่วมกิจกรรมงานวิชาการ สีสันจันทบุรี ABCS  ณ โรงเรียนอนุบาลจันทบุรี



------------------------------------------------------------------------- 


การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

ดร.สุทธิ  สุวรรณปาล

อดีตผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา

 

 

          การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่จะนำมาใช้ดำเนินการ โดยมีการนำแนวคิดและรูปแบบจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 27 วรรคสองที่กำหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ รวมทั้งแนวคิดและรูปแบบของนักพัฒนาหลักสูตร เช่น ไทเลอร์ ทาบา เซย์เลอร์ อเล็กซานเดอร์และเลวิส โอลิวา สกิลเบ็กมาร์ช และคณะ เอ็กเกิลสตัน วอล์คเกอร์ และรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของไทย ของกรมวิชาการ และกรมการศึกษานอกโรงเรียนมากำหนดเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

          ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่กำหนดขึ้น เป็นการพัฒนาหลักสูตรครบวงจรคือ เริ่มตั้งแต่การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน การร่างหลักสูตร การตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ในสถานการณ์จริง รวมทั้งการประเมินผลหลักสูตร โดยหวังว่าขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรที่สมบูรณ์ทำให้ได้หลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ กล่าวโดยสรุปขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 5 ขั้นตอน ดังนี้คือ

          ขั้นที่ 1 การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในด้านต่าง ๆได้แก่ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพและความต้องการของชุมชน การวิเคราะห์ศักยภาพของโรงเรียน การวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลาง

          ขั้นที่ 2 การร่างหลักสูตรโดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ การกำหนดจุดประสงค์ของหลักสูตร การกำหนดเนื้อหาสาระ การจัดการเรียนการสอน กิจกรรมและสื่อต่าง ๆ การกำหนดวิธีวัดและประเมินผลผู้เรียน

          ขั้นที่ 3 การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร เมื่อร่างหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะนำไปใช้กับนักเรียนจำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรก่อน เพื่อหาข้อบกพร่องและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมและสมบูรณ์ที่สุดสิ่งที่ต้องพิจารณาในการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรคือ ความสอดคล้องขององค์ประกอบต่างๆ ได้แก่จุดประสงค์ เนื้อหาสาระ การจัดการเรียนการสอน กิจกรรมและสื่อการเรียนรู้ วิธีวัดและประเมินผลผู้เรียน ซึ่งวิธีการตรวจสอบกระทำได้โดย

               1. คณะทำงานร่างหลักสูตรเป็นกลุ่มบุคคลที่พัฒนาหลักสูตรขึ้นมา เช่น คณะครู ผู้บริหารผู้ปกครอง คนในชุมชน เป็นผู้ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

               2. ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ด้านเนื้อหาสาระ ด้านสื่อการเรียนรู้ ด้านหลักสูตรและการสอน เป็นผู้ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

               3. การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจอยู่ในลักษณะของการจัดประชุม/สัมมนา เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำสู่การปรับปรุงหลักสูตร

          ขั้นที่ 4 การนำหลักสูตรไปใช้ หลังจากที่มีการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรละปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรที่ร่างขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือ การนำหลักสูตรไปใช้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก ครูที่เป็นผู้ปฏิบัติการหลักในการพัฒนาหลักสูตรเป็นผู้นำหลักสูตรไปใช้ด้วยการแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน ครูกำหนดวิธีการจัดการเรียนการสอน กำหนดรายละเอียดกิจกรรมในแต่ละคาบ พร้อมทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ การประสานงานกับบุคคลที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้รวมทั้งการจัดเตรียมสื่อการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพของชุมชน

          ขั้นที่ 5 การประเมินผลหลักสูตร เป็นการตัดสินคุณค่าของหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ผลจากการรวบรวมข้อมูลในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อหาคำตอบว่าหลักสูตรมีผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้หรือไม่เพียงใดสิ่งใดที่ควรต้องทำการปรับปรุงเพื่อให้หลักสูตรดียิ่งขึ้น

        

-------------------------------------------------------------------------


ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลการตอบคำถามของสัปดาห์ที่ผ่านมา


 

Leave a Comment