นิเทศก์ news

คลินิกวิชาการสารสัมพันธ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 | กลุ่มนิเทศฯ สพป.จันทบุรี เขต 1

โดย - 2 มกราคม 2567

คลินิกวิชาการสารสัมพันธ์

กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1

ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 วันที่ 4 ม.ค. 2567

วิสัยทัศน์ "นิเทศการศึกษาแนวใหม่ ใช้กระบวนการวิจัยและเทคโนโลยีเป็นฐาน ประสานเครือข่าย พัฒนาก้าวไกล สู่ Thailand 4.0"


          วันที่ 26 ธันวาคม 2566  โดย นางสาวอัญชัญ ชูช่วย ศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1  ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินกิจกรรมการประกวดแข่งขันคัดลายมือของนักเรียนในเขตจังหวัดจันทบุรี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 -3 ตามโครงการสืบสานตำนานลายสือไทย  ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 



          วันที่ 26 ธันวาคม 2566  โดย นางมลฑา ศรีเสริม ศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1  ร่วมเป็นกรรมการประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลง (PA) ให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานสอนในโรงเรียนอนุบาลจันทบุรี  ณ ห้องประชุมนิโลบล โรงเรียนอนุบาลจันทบุรี(ฝั่งตลาด) 


          วันที่ 27 ธันวาคม 2566 คณะศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1  โดย นางขวัญฤดี ไชยชาญ  นางธิติกาญจน์ พัฒน์อมรไชย  นางมลฑา ศรีเสริม  นางนันทวรรณ คอนหน่าย  นายวริทธิ์นันท์ วิทยม  และนางสาวธมนวรรณ อังคะหิรัญ  ร่วมทำบุญวันขึ้นปีใหม่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1  ณ สพป.จันทบุรี เขต 1




          วันที่ 27 ธันวาคม 2566  โดย นางขวัญฤดี ไชยชาญ  ผู้อำนวยการศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1  เข้าร่วมประชุมผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 ครั้งที่ 6/2566  ณ สพป.จันทบุรี เขต 1



          วันที่ 28 ธันวาคม 2566  โดย นางมลฑา ศรีเสริม  และนางสาวพรรณิภา เจริญทวี  ศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1  ร่วมรำบวงสรวงถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องในงานวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชรำลึก ประจำปี 2566  ณ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

 

          วันที่ 28 ธันวาคม 2566 คณะศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1  โดย นางขวัญฤดี ไชยชาญ  นางมลฑา ศรีเสริม  นางนันทวรรณ คอนหน่าย  นางสาวพรรณิภา เจริญทวี  นายพรณรงค์ ทรัพย์คง  นางสาวธมนวรรณ อังคะหิรัญ  และนางสาวนพรัตน์ ดาวไสว  ร่วมงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1  ณ วังปลา รีสอร์ท 



-------------------------------------------------------------------------

การประกันคุณภาพการศึกษา ตอนที่ 2
กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
นางธิติกาญจน์ พัฒน์อมรไชย

การจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย

1. กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา

2. จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตาม มาตรฐานการศึกษา

3. ดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา

4. ประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา

5. ติดตามผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพตาม มาตรฐานการศึกษา

6. จัดทำรายงานผลการประเมินตนเอง


1. กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา

     สถานศึกษาประกาศใช้มาตรฐานและเป้าหมายการดำเนินงานตามมาตรฐานการศึกษาให้ครอบคลุม ทุกระดับการศึกษาที่สถานศึกษาจัดการศึกษา ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา เป็นไปได้ในการปฏิบัติจริงด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับครู บุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษา ตัวแทน ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ดำเนินการวิเคราะห์มาตรฐานการศึกษา หลักสูตรสถานศึกษา จุดเน้น บริบท ความต้องการทิศทางการจัดการศึกษา อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของสถานศึกษา นำมากำหนดเป็นมาตรฐานการศึกษา ของสถานศึกษาและประกาศใช้มาตรฐานการศึกษาโดยผ่านความเห็นชอบ ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษา ทั้งนี้สถานศึกษา สามารถกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาเพิ่มเติมได้พิจารณากำหนด เป้าหมายความสำเร็จทั้งเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพในปีการศึกษาปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลสารสนเทศผลการดำเนินงานของปีการศึกษาที่ผ่านมาอย่างเหมาะสม และเป็นไปได้


2. จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตาม มาตรฐานการศึกษา

     แผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ต้องสอดคล้องกับ สภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นของสถานศึกษาและมีการจัดทำอย่างเป็นระบบ สถานศึกษาต้องจัดทำแผน 2 ประเภท ดังนี้

          2.1แผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา เป็นแผนระยะกลาง 3 5 ปี โดยสถานศึกษาสามารถนำแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์มาใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษา ด้วยการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของปัจจัย ภายในสถานศึกษา วิเคราะห์โอกาส และอุปสรรคของปัจจัยภายนอกสถานศึกษาประเมินสถานภาพของสถานศึกษา กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ กำหนดกรอบกลยุทธ์/กลยุทธ์การพัฒนา กำหนดแผนงาน โครงการ กิจกรรม รองรับพร้อมประมาณการงบประมาณ ทรัพยากรที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงาน ของสถานศึกษา

          2.2 แผนปฏิบัติการประจำปี (Action Plan) เป็นการนำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาไปสู่การปฏิบัติด้วยการวิเคราะห์ทิศทางการจัดการศึกษาของสถานศึกษา วิเคราะห์ประมาณการงบประมาณรายรับ รายจ่ายจัดลำดับความสำคัญของโครงการ พร้อมกับจัดทำรายละเอียดของโครงการ กิจกรรม ที่ครอบคลุมมาตรฐานของสถานศึกษาด้านคุณภาพของผู้เรียน กระบวนการบริหารและจัดการ กระบวนการจัดประสบการณ์/จัดการเรียนการสอน นโยบาย และจุดเน้นของหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้การดำเนินงานของสถานศึกษาบรรลุตามวิสัยทัศน์ตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และเพื่อแก้ไขปัญหาหรือ ปรับปรุงจุดอ่อนของสถานศึกษา

     ทั้งนี้สถานศึกษาต้องนำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาและแผนปฏิบัติการ ประจำของสถานศึกษา เสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความ เห็นชอบก่อนนำไปใช้จริง


3. ดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา

     การพัฒนาสถานศึกษาให้บรรลุตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดนั้น สถานศึกษาต้องมีระบบกลไกการบริหารและจัดการที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละสถานศึกษา ไม่เป็นภาระกับครูหรือผู้เกี่ยวข้องมากเกินไป สถานศึกษาต้องดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาและแผนปฏิบัติการประจำปี มีการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานของแผนงาน โครงการ กิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปตามระยะเวลา ที่กำหนด บรรลุเป้าหมายระดับใด แนวทางการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ตามกฎกระทรวง การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561

     โดยสามารถใช้แนวคิด ทฤษฎีหรือผลงานวิจัยที่เน้นความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้อง ทุกฝ่าย เช่น การบริหารเชิงระบบ (System Approach) การใช้วงจรการพัฒนาคุณภาพ (PDCA) การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน(School Based Management) การบริหารแบบมุ่งสัมฤทธิ์ (Total Quality Management) การบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ (Quality System Management) การใช้ห่วงโซ่คุณภาพ (Chain of quality) เป็นต้น หรือสถานศึกษาสามารถสร้าง และพัฒนารูปแบบการบริหารและจัดการของตนเองก็ได้

     นอกจากนี้สถานศึกษา ควรจัดระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบพัฒนาวิชาการ ระบบพัฒนาครูและบุคลากรระบบการจัดการสภาพแวดล้อม ระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศระบบ การนิเทศภายใน ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา คือ วัฒนธรรมคุณภาพที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา


4. ประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา

     การประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา เป็นระบบและกลไกในการควบคุมตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานตาม มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่ดำเนินงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการกระทำโดยบุคลากรในหน่วยงานหรือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง สถานศึกษาต้องให้ความสำคัญกับการประเมินเชิงคุณภาพที่สะท้อน จุดเด่น และจุดควรพัฒนาที่เกิดขึ้นจากการการดำเนินงาน ผสมผสานกับการประเมินเชิงปริมาณควบคู่กันไป สถานศึกษาต้องกำหนดหรือมอบหมายผู้รับผิดชอบในการประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาการปฏิบัติงาน ของครูและบุคลากรในสถานศึกษาตามบทบาทและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และระดับสถานศึกษาให้ชัดเจน วิเคราะห์มาตรฐานและเป้าหมายตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่ประกาศใช้ กำหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลและเครื่องมือที่หลากหลายและเหมาะสม ดำเนินการประเมินผลและตรวจสอบ คุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง พร้อมทั้ง สรุปรายงานผลการประเมินคุณภาพภายใน ของสถานศึกษา เพื่อนำผลการประเมินคุณภาพภายในไปจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาต่อไป


5. ติดตามผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา

     เป็นการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาและ แผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ไปใช้ ปรับปรุงหรือพัฒนาการดำเนินงานตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ประเด็นที่สถานศึกษาติดตามผล ได้แก่ กระบวนการบริหารจัดการศึกษาของ สถานศึกษา เช่น การพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา กระบวนการจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้การวัดผลประเมินผลการเรียนรู้การพัฒนาบุคลากร กระบวนการบริหารและจัดการ การจัดสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ เป็นต้น และการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา ว่าดำเนินงานได้บรรลุตามเป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จที่กำหนดหรือไม่ อย่างไร สถานศึกษาสามารถติดตามผลระหว่างและเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินงานก็ได้ สถานศึกษาควรกำหนดผู้รับผิดชอบในการติดตามผล กำหนดปฏิทินปฏิบัติงาน ติดตามผล วิเคราะห์และกำหนดกรอบพร้อมกับสร้างเครื่องมือติดตามผล จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ และรายงานผลการติดตามอย่างน้อยภาคเรียนละ 1ครั้ง


6. จัดทำรายงานผลการประเมินตนเอง

     การรายงานผลการประเมินตนเอง (Self - Assessment Report : SAR) ตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่ดีต้องสะท้อนคุณภาพของผู้เรียนและ ผลสำเร็จของการบริหารจัดการศึกษา สถานศึกษาต้องนำผลการประเมินคุณภาพ ภายในมาจัดทำรายงานผลการประเมินตนเอง โดยรวบรวมข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูลทั่วไปและผลการประเมินตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาแต่ละ มาตรฐานไปจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองตามรูปแบบรายงานที่สถานศึกษา กำหนด อาจเสนอเป็นความเรียง การบรรยายประกอบแผนภูมิรูปภาพหรือกราฟ ฯลฯ ตามบริบทของสถานศึกษา โดยใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย กระชับ ชัดเจน นำเสนอ ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ สาระสำคัญรายงานผลการประเมินตนเอง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

     ส่วนที่1 บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

     ส่วนที่2 ผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา โดยแต่ละมาตรฐานนำเสนอใน 3 ประเด็น คือ

                    1) คุณภาพในแต่ละมาตรฐานอยู่ในระดับใด

                    2) มีหลักฐานในการอ้างอิงผลการประเมินตามประเด็นพิจารณาของแต่ละมาตรฐานอย่างไร

                    3) สถานศึกษาจะมีกระบวนการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร 

     สถานศึกษาอาจแนบภาคผนวกที่นำเสนอหลักฐานข้อมูลสำคัญ หรือเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสม นำเสนอรายงานผลการประเมินตนเอง ต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความเห็นชอบ และจัดส่งรายงานดังกล่าว ต่อหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแล เป็นประจำทุกปี เผยแพร่รายงานต่อสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมรับการประเมินคุณภาพ ภายนอกต่อไป ทั้งนี้สถานศึกษาแต่ละแห่งและหน่วยงานต้นสังกัด ต้องนำข้อมูลจาก รายงานผลการประเมินตนเองและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพ ภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ไปใช้ปรับปรุงหรือพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาให้มีคุณภาพ และต่อเนื่อง ยั่งยืนต่อไป


-------------------------------------------------------------------------




 


 


 


 


 






 




 





Leave a Comment


บทความโดย





คลังสื่อ สพป.จันทบุรี เขต 1


IMG