คลินิกวิชาการสารสัมพันธ์
กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1
ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 วันที่ 7 ธ.ค. 2566
วิสัยทัศน์ "นิเทศการศึกษาแนวใหม่ ใช้กระบวนการวิจัยและเทคโนโลยีเป็นฐาน ประสานเครือข่าย พัฒนาก้าวไกล สู่ Thailand 4.0"
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นางมลฑา ศรีเสริม ศึกษานิเทศก์ ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการการประเมินผลการควบคุมภายใน ประจำปีงบประมาณ 2566 ดำเนินการประเมินผลการควบคุมภายในของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1
วันที่ 1 ธันวาคม 2566 คณะศึกษานิเทศก์ สพป.จันทบุรี เขต 1 นิเทศ กำกับ ติดตามการดำเนินโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ระดับปฐมวัย โดยนางสาวสกุลยา ผลบุญ นางมลฑา ศรีเสริม นางสาวพรรณิภา เจริญทวี ด้วยรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ google meet
การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์
กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา
นายวริทธิ์นันท์ วิทยม
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกล่าวถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไว้ว่า (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา,2563: 7) สถานศึกษาสามารถออกแบบการเรียนรู้ได้ทั้งรูปแบบกิจกรรมในห้องเรียนและกิจกรรมนอกห้องเรียน กิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงและเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนให้ความสนใจให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมเป็นอย่างดีคือ การเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อาจจัดได้ทั้งรูปแบบ กิจกรรมในห้องเรียนและกิจกรรมนอกห้องเรียน ซึ่งการเรียนรู้เนื้อหาสาระ หลักการ และ ทฤษฎีในห้องเรียนจะเป็นรูปธรรม เข้าใจได้ง่ายและชัดเจนขึ้นเมื่อผู้เรียนได้สัมผัส รับรู้ เกิดประสบการณ์ตรงจากสิ่งที่เรียนรู้หรือกำลังศึกษาจากการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น การทำโครงงานประวัติศาสตร์ การทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา สร้างประสบการณ์ ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เกิดเป็นการสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายให้แก่ผู้เรียน แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น คือสถานที่สำคัญในท้องถิ่นที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา พัฒนาการของสถานที่ บุคคล ฯลฯ ให้เห็นเป็นการเฉพาะและสามารถสืบค้นได้ เช่น โรงเรียน วัด มัสยิด โบสถ์ อนุสาวรีย์ ตลาด ย่านการค้า แหล่งชุมชนโบราณ ป้ายจารึกพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นการประกอบอาชีพ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีหรืออาจหมายถึง บุคคลสำคัญ ปราชญ์หรือภูมิปัญญาในท้องถิ่น ฯลฯ องค์ประกอบสำคัญของการจัดการเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ การกำหนดเนื้อหาที่ชัดเจน การกำหนดกิจกรรมให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติกิจกรรมในพื้นที่แหล่งเรียนรู้ การประเมินทักษะต่าง ๆ ของผู้เรียน โดยครูผู้สอนต้องวางแผนการดำเนินงาน3ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมการก่อนออกเดินทางขั้นศึกษาแหล่งเรียนรู้ (การลงพื้นที่)และขั้นนำเสนอผลงาน (การสรุปงาน)
เอกสารอ้างอิง
สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา. (2563).การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.