สพป.จันทบุรี เขต 1 IMG จังหวัดจันทบุรี About Contact Log in
IMG-LOGO

การประเมินคุณภาพภายในและการรายงานผลการประเมินตนเอง (Self Assessment Report : SAR)

โดย สุทธิ สุวรรณปาล - 22 มิถุนายน 2564 - อ่าน 9977 ครั้ง

 

           กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษาพ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๓ ระบุให้สถานศึกษาแต่ละแห่งจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาโดยการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาแต่ละระดับและประเภทการศึกษาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนดพร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาและดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้จัดให้มีการประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาติดตามผลการดำเนินการเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาและจัดส่งรายงานผลการประเมินตนเองให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กกับดูแลสถานศึกษาเป็นประจทุกปี

 


๑. การประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา

 

             สถานศึกษาควรสร้างระบบและกลไกในการประเมินคุณภาพภายในที่ใช้สถานศึกษาเป็นฐาน และประเมินตนเองเป็นระยะ ๆ โดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลายสอดคล้องตามบริบทของสถานศึกษา และกฎกระทรวงที่กำหนดไว้ เพื่อให้ได้สารสนเทศและผลการประเมินตนเองที่ตรงตามสภาพจริงและเชื่อถือได้ และนำสารสนเทศจากการประเมิน วิธีการปฏิบัติที่ดี และการศึกษาแนวคิดเพิ่มเติม มาใช้ปรับปรุงพัฒนาระบบงานอย่างต่อเนื่อง และสื่อสารแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยการมีส่วนร่วมของผู้ทรงคุณวุฒิ บุคลากรทุกฝ่าย และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนี้

             ๑. แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินภายในจำนวน ๓ คน ประกอบด้วยบุคลากรภายในสถานศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายใน

             ๒. คณะกรรมการประเมินภายในเตรียมการประเมินคุณภาพภายใน โดยศึกษามาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา แล้วกำหนดวิธีการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา กำหนดประเด็นการสังเกต พูดคุย และตรวจร่องรอยหลักฐานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการประเมินภายใน กำหนดช่วงเวลาการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยทั่วไปใช้เวลาประเมิน ๓ วัน และแจ้งเวลาที่จะประเมินให้ผู้รับผิดชอบงานต่าง ๆ ในสถานศึกษาทราบ

             ๓. ดำเนินการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาอย่างเป็นกัลยาณมิตร โดยใช้วิธีสังเกต พูดคุย และตรวจสอบร่องรอยหลักฐาน เพื่อให้ได้ผลการประเมินที่ตรงกับสภาพความเป็นจริงของสถานศึกษา โดยคณะกรรมการประเมินภายในทั้ง ๓ คน ดำเนินการประเมินทุกมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และทุกประเด็นการพิจารณาของแต่ละมาตรฐานฯ ระหว่างการตรวจสอบ ประเมิน คณะกรรมการควรมีสมุดบันทึก (Field note) บันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่พบตามประเด็นการพิจารณา ซึ่งผู้ประเมินทุกคนจะตรวจสอบ ประเมินทุกประเด็นการพิจารณาของแต่ละมาตรฐานเหมือนกัน แล้วประชุมตัดสินผลการประเมินร่วมกัน โดยใช้หลัก การตัดสินในภาพรวม (Holistic) ตัดสินโดยใช้ความเชี่ยวชาญ (Expert judgement) ของคณะกรรมการ และใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based) ระบุจุดเด่น จุดควรพัฒนา และความต้องการในการพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้รับผิดชอบแต่ละงานด้วย ในกรณีที่มีข้อที่ควรแก้ไข

             ๔. รวบรวมข้อมูลผลการประเมิน จัดทำเป็นสารสนเทศส่งให้ผู้รับผิดชอบของสถานศึกษา เพื่อเขียนรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ต่อไป และสถานศึกษาขอเก็บรวบรวมบันทึกต่าง ๆ ของผู้ประเมินภายในไว้เป็นหลักฐานว่า สถานศึกษามีการประเมินภายในที่เชื่อถือได้

             ๕. นำสารสนเทศจากผลการประเมิน และศึกษาแนวคิด วิธีการปฏิบัติที่ดี มาปรับปรุงพัฒนา ระบบงานและคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง

              แนวทางการประเมินภายใน มีหลักการดำเนินการ ดังนี้

              ๑. การประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษา และการตัดสินระดับคุณภาพตามมาตรฐาน เป็นไปตามหลักการตัดสินโดยอาศัยความเชี่ยวชาญ (Expert judgement) และการตรวจทานผลการประเมินโดยคณะกรรมการประเมินในระดับเดียวกัน(Peer review) โดยเทียบกับเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้คณะกรรมการประเมินต้องมีความรู้อย่างรอบด้านและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันในการตัดสินเพื่อให้ระดับคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะไม่ใช่การให้คะแนนตามความคิดเห็นของคนใดคนหนึ่ง

             ๒. การประเมินคุณภาพภายใน เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่ต้องตรวจสอบ และประเมินตนเองตามสภาพบริบทของสถานศึกษาที่แท้จริง โดยให้ความสำคัญกับการประเมินเชิงคุณภาพ และการประเมินเชิงปริมาณควบคู่กันไป การตัดสินคุณภาพของสถานศึกษาให้ใช้เกณฑ์การให้คะแนนผลงาน หรือกระบวนการที่ไม่แยกส่วน หรือแยกองค์ประกอบในการกำหนดคะแนนประเมิน แต่เป็นการประเมินในภาพรวมของผล

การดำเนินงานหรือกระบวนการดำเนินงาน(Holistic rubrics)

             ๓. การกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานภายในของสถานศึกษา ให้สถานศึกษากำหนดเป้าหมาย และเกณฑ์การประเมินตามสภาพบริบทของสถานศึกษาเอง เพื่อตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานตามภารกิจของสถานศึกษา โดยให้ยึดหลักการดำเนินงานเพื่อพัฒนา และสะท้อนคุณภาพการดำเนินงานตามเป้าหมายที่กำหนดตามมาตรฐานของสถานศึกษา

             ๔. การประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษาให้เน้นการประเมินตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่เกิดจากการปฏิบัติงานตามสภาพจริงของสถานศึกษา (Evidence-based) โดยเลือกใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เหมาะสม และสะท้อนคุณภาพการดำเนินงานตามมาตรฐานของสถานศึกษาได้อย่างชัดเจน และมีเป้าหมายการประเมินเพื่อ การพัฒนา ลดภาระการจัดเก็บข้อมูล และเอกสารที่ไม่จำเป็นในการประเมิน แต่ข้อมูลต้องมีความน่าเชื่อถือ และสามารถตรวจสอบผลการประเมินได้ตามสภาพบริบทของสถานศึกษา

            ๕. คณะกรรมการประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษาควรศึกษามาตรฐานการศึกษา และประเด็น การพิจารณาที่สถานศึกษากำหนด ให้เข้าใจถ่องแท้ ก่อนดำเนินการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา หลังประเมินแล้ว ให้แจ้งผลการประเมิน และให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการศึกษา สรุปและเขียนรายงานการประเมินตนเอง (Self-assessment report - SAR)

๒. แนวการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (Self-Assessment Report - SAR)

              รายงานการประเมินตนเองเป็นข้อมูลที่แสดงประวัติการปฏิบัติงานและผลการปฏิบัติงานพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาในรอบปีที่ผ่านมา ดังนั้น ในการเขียนรายงานการประเมินตนเอง ควรแสดงข้อมูลที่ฉายภาพของสถานศึกษาในปีที่ประเมินให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพัฒนาการย้อนหลังของสถานศึกษา สำหรับคนรุ่นหลัง และเป็นข้อมูลในการหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นในปีต่อไป ในที่นี้ ขอแนะนำกรอบการเขียนรายงานการประเมินตนเอง ดังนี้

               ๑. สถานศึกษาสรุปข้อมูลผลการประเมินภายใน และจัดทำรายงานการประเมินตนเองที่สะท้อนมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา

               ๒. นำผลการประเมินคุณภาพภายในมาจัดทำรายงานคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาประจำปีการศึกษา ซึ่งกรอบการเขียนรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา ประกอบด้วยส่วนของการรายงาน ๒ ส่วน ได้แก่

                    ส่วนที่ ๑  บทสรุปสำหรับผู้บริหาร ควรนำเสนอไม่เกิน 2 หน้า แสดงผลการดำเนินงานภาพรวมและ แต่ละมาตรฐาน การดำเนินงานที่สนับสนุนผลการประเมิน จุดเด่น จุดควรพัฒนา และแผนเพื่อพัฒนาให้สถานศึกษามีมาตรฐานที่สูงขึ้นโดยสรุป โดยบทสรุปการประเมินตนเองจะมีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อ (1) กระชับ รวบรัด จับประเด็นสำคัญ และมีที่มาของหลักฐานที่ชัดเจน (2)เป็นการประเมินไม่ใช่แค่บรรยาย (3) สื่อให้เห็นอย่างชัดเจนถึงผลกระทบของสิ่งโรงเรียนที่ได้ลงมือทำเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านต่าง ๆ (เช่น ด้านผู้เรียน ด้านผู้สอน ด้านบริหาร ด้านปัจจัยพื้นฐาน เป็นต้น)

                    ส่วนที่ ๒เนื้อหาสาระของการประเมินตนเอง ซึ่งประกอบด้วยสาระต่าง ๆ ดังนี้
                    ๑)  ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษาโดยนำเสนอข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษาให้เหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษา ใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย การนำเสนออาจเป็นความเรียง ตาราง แผนภูมิ รูปภาพ หรือกราฟ เช่น ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลผู้บริหาร ข้อมูลนักเรียนแต่ละระดับการศึกษา อัตราส่วนครูต่อผู้เรียน มีครุครบทุกกลุ่มสาระหรือไม่ ข้อมูลจำนวนร้อยละผู้จบการศึกษา ข้อมูลครูและบุคลากร ข้อมูลงบประมาณ ข้อมูลสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนโดยรวม เป็นต้น
                     ๒)  ผลการประเมินตนเองภาพรวมและรายมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ระบุว่า สถานศึกษาได้ระดับอะไรในภาพรวมจาก ๕ ระดับและแสดงระดับคุณภาพของแต่ละมาตรฐาน ซึ่งแต่ละมาตรฐานเมื่อแสดงผลการประเมินแล้ว ควรบรรยายแสดงผลการดำเนินงานที่เป็นร่องรอยหลักฐานที่เกิดจากการปฏิบัติงานตามสภาพจริงของสถานศึกษา และร่องรอยที่แสดงว่าผลงานที่เกิดขึ้น เป็นที่พึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อาจจะเป็นผลการสำรวจความพึงพอใจ บันทึกการประชุม ฯลฯ สนับสนุนผลการประเมินแต่ละมาตรฐานด้วย ในการเขียนแสดงร่องรอยหลักฐาน ควรเขียนแสดงร่องรอยหลักฐานตามประเด็นการพิจารณา และประเด็นอื่น ๆ ที่สถานศึกษาปฏิบัติ ที่สนับสนุนผลการประเมินมาตรฐานนั้น ๆ นอกจากนี้ อาจจะแสดงผลการดำเนินงานที่สำคัญ ๆ ที่แสดงให้เห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยย้อนหลัง ๓ ปี (ถึงปีปัจจุบัน).

                       ในการรายงานผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา สามารถกำหนดรูปแบบรายงานประเมินตนเองของสถานศึกษาได้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา โดยนำเสนอข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ การนำเสนอข้อมูลต่างๆ ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ควรมีความกระชับ รวบรัด จับประเด็นสำคัญๆ มานำเสนอ และมีที่มาของหลักฐานที่ชัดเจน การจัดทำต้องไม่ยุ่งยากและเป็นภาระให้กับสถานศึกษา โดยเนื้อหาที่นำเสนอมุ่งเน้นตอบคำถาม ๓ ข้อ ดังต่อไปนี้

                       คำถามข้อ ๑ มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษามีระดับคุณภาพใด
                       การตอบคำถามข้อ ๑ ให้ระบุระดับคุณภาพของสถานศึกษา นำเสนอมาตรฐานจำนวน ๓ มาตรฐาน และภาพรวมของสถานศึกษา ซึ่งระดับคุณภาพมี ระดับ คือ ระดับกำลังพัฒนา ระดับปานกลาง ระดับดีระดับดีเลิศ และระดับยอดเยี่ยม

                       คำถาม ๒ ข้อมูล หลักฐาน และเอกสารเชิงประจักษ์สนับสนุนมีอะไรบ้าง
                       การตอบคำถามข้อ ๒ ข้อมูล หลักฐาน และเอกสารเชิงประจักษ์สนับสนุนมีอะไรบ้าง ให้เน้นนำเสนอข้อมูล หลักฐานการประเมินเชิงประจักษ์ที่เกิดจากการปฏิบัติงานตามสภาพจริงของสถานศึกษา (evidence based) โดยเลือกใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เหมาะสมและสะท้อนคุณภาพการดำเนินงานตามมาตรฐานของสถานศึกษาได้อย่างชัดเจน ลดภาระการจัดเก็บข้อมูลและเอกสารที่ไม่จำเป็นในการประเมิน ข้อมูลต้องมีความน่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบผลการประเมินได้ตามสภาพบริบทของสถานศึกษานั้น ๆ โดยข้อมูลที่นำเสนอในการตอบคำถามข้อ ๒ นี้ สามารถจำแนกเป็นรายมาตรฐาน ดังนี้

                      (๑) ด้านคุณภาพของผู้เรียน ข้อมูลที่นำเสนอ เช่น
                            (๑.๑) ค่าเฉลี่ยของผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)
                            (๑.๒) ผู้เรียนมีผลการประเมินความสามารถด้านการอ่าน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ระดับดีขึ้นไป
                            (๑.๓) ผู้เรียนมีผลการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ระดับดีขึ้นไป
                            (๑.๔) ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตั้งแต่เกรด ๓ ขึ้นไป
                            (๑.๕) ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศ
                            (๑.๖) ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรในระดับดีขึ้นไป
                            (๑.๗) ผู้เรียนมีสุขภาพที่ดี

                      (๒) ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ ข้อมูลที่นำเสนอ เช่น
                            (๒.๑) ผลการประเมินสมรรถนะของผู้บริหารสถานศึกษา
                            (๒.๒) สถานศึกษามีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
                            (๒.๓) การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ
                            (๒.๔) ผู้ปกครองนักเรียนที่รับทราบข่าวสารจากสถานศึกษา
                            (๒.๕) ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการดำเนินงานของสถานศึกษา
                            (๒.๖) การมีส่วนร่วมทางการศึกษาของชุมชนและสังคม

                    (๓) ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ ข้อมูลที่นำเสนอ เช่น
                         (๓.๑) ผู้สอนมีการประเมินสมรรถนะในระดับดีขึ้นไป
                          (๓.๒) ผู้สอนสอนตรงตามวุฒิการศึกษาและมีภาระงานที่เหมาะสม
                          (๓.๓) ผู้สอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในระดับดีขึ้นไป
                          (๓.๔) ผู้สอนมีความสามารถและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการจัดการเรียนรู้ในระดับดีขึ้นไป
                          (๓.๕) ความสามารถในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning)
                          (๓.๖) ผู้สอนใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย
                          (๓.๗)สถานศึกษาจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่ทำให้ผู้เรียนค้นพบความถนัด รู้จักอาชีพและแนวทางการศึกษาต่อ

                     คำถามที่ ๓ แผนงาน/แนวทางพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม (อย่างน้อย  ๑ ระดับ) หรือคงสภาพอย่างไร
                      การตอบคำถามข้อ ๓ แผนงาน/แนวทางพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม (อย่างน้อย ๑ ระดับ) หรือคงสภาพอย่างไร โดยสถานศึกษานำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา การพัฒนาคุณภาพในปีต่อไป เพื่อยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น สถานศึกษาอาจนำเสนอแผนงาน/โครงการที่จะพัฒนาออกเป็นด้านต่าง ๆ ตามความสามารถที่จะดำเนินการได้ ตัวอย่างเช่น
                     (๑) แผนงาน/โครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
                     (๒) แผนงาน/โครงการพัฒนาคุณภาพครูในเรื่องต่างๆ
                     (๓) แผนงาน/โครงการพัฒนาด้านอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม
                     (๔) แผนงาน/โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการของสถานศึกษา

                 ๒.๓ ภาคผนวก ประกอบด้วยรายละเอียดของข้อมูลที่ได้นำเสนอในข้อมูลพื้นฐานและผลการประเมินตนเอง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่เห็นสมควร  แต่จะต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้การจัดทำเอกสารมีจำนวนมากและเป็นภาระในการดำเนินการ หรืออาจเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยย้อนหลัง ๓ ปี (ถึงปีปัจจุบัน)

             ๓. เสนอรายงานการประเมินตนเองต่อคณะกรรมการสถานศึกษาฯ พิจารณา และให้ความเห็นชอบ

             ๔. นำเสนอรายงานการประเมินตนเองต่อหน่วยงานต้นสังกัด และเตรียมพร้อมในการรับการประเมินคุณภาพภายนอกต่อไป

              ๕. เผยแพร่รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาต่อสาธารณชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------------------------------------------

 

เอกสารอ้างอิง

เฉลิม ฟักอ่อน. (๒๕๖๓). "การสร้างความเข้มแข็งระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา”. บทความ
                 เฉลิม  
ฟักอ่อน  facebook: Chalerm Fakon

ราชกิจจานุเบกษา.กฎกระทรวง การประกันคุณภาพการศึกษา ๒๕๖๑. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คณะ
                 รัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา. ๒๕๖๑.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (๒๕๕๔). ประกาศคณะกรรมการประกันคุณภาพภายใน
                ระดับ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประกัน
                คุณภาพภายใน
ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๔.เอกสารอัดสำเนา.

สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (๒๕๖๐). เอกสารประกอบ
                การสัมมนา
เชิงปฏิบัติการ การปฏิรูประบบการประเมินและการประกันคุณภาพ
                การศึกษา
 เพื่อตรียมความพร้อมของสถานศึกษา ตามระบบการประเมินคุณภาพการศึกษา
                แนวใหม่. 

สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (๒๕๖๑). แนวทางการประเมิน
               คุณภาพตาม
มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับ
               การศึกษาขั้นพื้นฐานศูนย์
การศึกษาพิเศษ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่ง
               ประเทศไทย จำกัด. 

สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๖๒). 
             แนวทางกา
รคัดเลือกสถานศึกษาเพื่อรับรางวัล IQA AWARD ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒
             สถานศึกษาทั่วไป

 



 

Leave a Comment

เห็ดหย็อง โรงเรียนวัดหมูดุด

C Shop สินค้า 1 โรงเรียน 1 ผลิตภัณฑ์


MOE SAFETY CENTER

ข่าวกลุ่มนโยบายและแผน สพป.จันทบุรี เขต 1

IMG


บทความโดย สุทธิ สุวรรณปาล


IMG
สุทธิ สุวรรณปาล