สพป.จันทบุรี เขต 1

เตรียมพัฒนางานตามข้อตกลง(PA)ให้ตรงกับตำแหน่งและวิทยฐานะศึกษานิเทศก์

ศึกษานิเทศก์ต้องรู้ เข้าใจ ปฏิบัติหรือพัฒนางานให้ตรงกับบทบาท หน้าที่ ความคาดหวังต่อตำแหน่งและวิทยาฐานะของศึกษานิเทศก์


ตามหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๑๑ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) ที่ศึกษานิเทศก์ต้องจัดทำและเสนอต่อผู้บังคับบัญชา เช่น ศึกษานิเทศก์สังกัดสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอต่อผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อแสดงเจตจำนงว่า ภายในรอบการประเมิน จะพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้หรือการจัดการศึกษาของผู้รับการนิเทศก์ หรือการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือมีการพัฒนามากขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนในหน่วยงานทางการศึกษาที่รับผิดชอบ โดยสะท้อนให้เห็นถึงระดับการปฏิบัติที่คาดหวังของตำแหน่งและวิทยฐานะที่ดำรงอยู่ และสอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทของสถานศึกษา นโยบายของส่วนราชการและกระทรวงศึกษาธิการ โดยผู้บังคับบัญชาได้เห็นชอบให้เป็นข้อตกลงในการพัฒนางาน


ภาพ ; สำนักงาน ก.ค.ศ.

ข้อตกลงในการพัฒนางาน(PA) ดังกล่าว ในหลักเกณฑ์การประเมินฯกำหนดให้มี ๒ ส่วน กล่าวคือ

ส่วนที่ ๑ข้อตกลงในการพัฒนาตามมาตรฐานตำแหน่งประกอบด้วย ๑) การปฏิบัติงานตามมาตรฐานตำแหน่งศึกษานิเทศก์ และมีภาระงานตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด ๒) ผลการปฏิบัติงาน ด้านการนิเทศการศึกษา ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา และด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ


ส่วนที่ ๒ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ หรือการจัดการศึกษาของผู้รับการนิเทศ หรือการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน โดยศึกษานิเทศก์ต้องแสดงให้เห็นถึงการปรับประยุกต์ แก้ไขปัญหา ริเริ่ม พัฒนา คิดค้น ปรับเปลี่ยน หรือสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ข้อตกลงในการพัฒนางานต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา นโยบายของส่วนราชการและกระทรวงศึกษาธิการ


ในการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งของศึกษานิเทศก์ ที่ครอบคลุม ถูกต้อง ตรงประเด็นนั้น จำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ ลักษณะงานที่ปฏิบัติ ขอบข่ายและประเด็นลักษณะงานที่ปฏิบัติของศึกษานิเทศก์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำหนดไว้แล้วในมาตรฐานตำแหน่งและวิทยฐานะของศึกษานิเทศก์ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๓ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔


ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการนิเทศการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา รวมทั้งพัฒนาตนเองและวิชาชีพ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย


ขอบข่ายงานและประเด็นภาระงานที่ปฏิบัติของศึกษานิเทศก์


ลักษณะงานที่ปฏิบัติของศึกษานิเทศก์ (ขอเรียกว่าขอบข่ายงานและประเด็นภาระงานที่ปฏิบัติของศึกษานิเทศก์ เป็นการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับ ๑) การนิเทศการศึกษา ๒) การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา และ ๓) พัฒนาตนเองและวิชาชีพ ซึ่งต้องบูรณาการงานทั้ง ๓ ด้าน ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกัน

โดยในแต่ละด้าน (ขอบข่ายงาน) และเรื่องย่อยของแต่ละด้าน (ประเด็นภาระงาน) มีดังนี้


๑. ด้านการนิเทศการศึกษา


๑.๑ ออกแบบ จัดทำแผนนิเทศการศึกษา ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มาตรฐานการศึกษาชาติและหลักสูตร รวมทั้งนโยบาย จุดเน้น สภาพแวดล้อม ปัญหา และความต้องการจำเป็น ให้ครู สถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษา สามารถจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสมรรถนะและผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน


๑.๒ คัดสรร สร้าง พัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัย หรือวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับแผนนิเทศการศึกษา เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนให้ครู สถานศึกษา และหน่วยงานการศึกษา สามารถจัดการศึกษาได้บรรลุผล


๑.๓ นิเทศ ให้คำปรึกษา แนะนำ ชี้แนะ เป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาวิชาการ ประสานงานกับหน่วยงาน สถานประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาให้ครู สถานศึกษา และหน่วยงานการศึกษา สามารถจัดการศึกษาได้บรรลุผล


๑.๔ รายงานผลการนิเทศ โดยการวิเคราะห์ สังเคราะห์ สะท้อนผลการนิเทศต่อครู สถานศึกษา หน่วยงาน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลสารสนเทศในการพัฒนางานวิชาการ และการจัดการศึกษาที่เกิดผลสัมฤทธิ์สูง


๒. ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา

๒.๑ วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและความต้องการจำเป็น สังเคราะห์สารสนเทศที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อวางแผน ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการจัดการศึกษา


๒.๒ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร และสถานประกอบการ รวมถึงภูมิปัญญา หรือผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา


๒.๓ ติดตาม ประเมินผลการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาของสถานศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา ให้สามารถจัดการศึกษาได้บรรลุผลตามพันธกิจ


๓. ด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ

๓.๑ พัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ โดยเฉพาะอย่ายิ่งการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสื่อสาร สมรรถนะทางวิชาชีพศึกษานิเทศก์ และความรอบรู้ในเนื้อหาการนิเทศให้สูงขึ้น


๓.๒ มีส่วนร่วม และเป็นผู้นำในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาการการจัดการเรียนรู้และการจัดการศึกษา


๓.๓ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพมาใช้ในการพัฒนาการนิเทศการศึกษา ที่มีผลต่อคุณภาพครูและผู้เรียน


ระดับความคาดหวังที่เป็นคุณภาพการปฏิบัติงาน

ในทำนองเดียวกัน การจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ หรือการจัดการศึกษาของผู้รับการนิเทศ หรือการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนนั้น ศึกษานิเทศก์ต้องพัฒนางานให้สอดคล้องกับระดับความคาดหวังในคุณภาพงานของตำแหน่งและวิทยฐานะนั้น ๆ และสอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา นโยบายของส่วนราชการและกระทรวงศึกษาธิการ


ความคาดหวังที่เป็นคุณภาพการปฏิบัติงานของตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กล่าวคือ เป็นผู้มีความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงาน ด้านการนิเทศการศึกษา ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา โดยในแต่ละวิทยฐานะมีระดับความคาดหวังที่แตกต่างกัน ดังนี้


๑. ศึกษานิเทศก์วิทยฐานะชำนาญการต้องแสดงให้เห็นว่ามีการออกแบบและจัดทำแผนการนิเทศการศึกษา คัดสรร สร้าง พัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับแผนการนิเทศการศึกษา ปฏิบัติการนิเทศ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา ส่งเสริมพัฒนางานวิชาการของหน่วยงานการศึกษา ประสานงานกับหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเน้นการมีส่วนร่วม และจัดทำรายงานผลการนิเทศการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาและให้ผู้รับการนิเทศพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมึคุณภาพ พร้อมกับพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการนิเทศการศึกษาให้มีผลต่อคุณภาพครูและผู้เรียน


๒. ศึกษานิเทศก์วิทยฐานะชำนาญการพิเศษต้องแสดงให้เห็นว่ามีการออกแบบและจัดทำแผนการนิเทศการศึกษา คัดสรร สร้าง พัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับแผนการนิเทศการศึกษา ปฏิบัติการนิเทศ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา ส่งเสริมพัฒนางานวิชาการของหน่วยงานการศึกษา ประสานงานกับหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเน้นการมีส่วนร่วม และจัดทำรายงานผลการนิเทศการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาริเริ่ม คิดค้น และพัฒนานวัตกรรมให้ผู้รับการนิเทศพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมึคุณภาพ สูงขึ้นพร้อมกับพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการนิเทศการศึกษาให้มีผลต่อคุณภาพครูและผู้เรียนเป็นแบบอย่างที่ดี


๓. ศึกษานิเทศก์วิทยฐานะเชี่ยวชาญต้องแสดงให้เห็นว่ามีการออกแบบและจัดทำแผนการนิเทศการศึกษา คัดสรร สร้าง พัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับแผนการนิเทศการศึกษา ปฏิบัติการนิเทศ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา ส่งเสริมพัฒนางานวิชาการของหน่วยงานการศึกษา ประสานงานกับหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเน้นการมีส่วนร่วม และจัดทำรายงานผลการนิเทศการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาริเริ่ม คิดค้น พัฒนา และปรับเปลี่ยนนวัตกรรมให้ผู้รับการนิเทศพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมึคุณภาพสูงขึ้นพร้อมกับพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการนิเทศการศึกษาให้มีผลต่อคุณภาพครูและผู้เรียน เป็นแบบอย่างที่ดีเป็นผู้นำ และสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ


๔. ศึกษานิเทศก์วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษต้องแสดงให้เห็นว่ามีการออกแบบและจัดทำแผนการนิเทศการศึกษา คัดสรร สร้าง พัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับแผนการนิเทศการศึกษา ปฏิบัติการนิเทศ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา ส่งเสริมพัฒนางานวิชาการของหน่วยงานการศึกษา ประสานงานกับหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเน้นการมีส่วนร่วม และจัดทำรายงานผลการนิเทศการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาริเริ่ม คิดค้น พัฒนา ปรับเปลี่ยน เผยแพร่และขยายผลนวัตกรรมและงานวิจัย จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงวิชาชีพพร้อมกับพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการนิเทศการศึกษาให้มีผลต่อคุณภาพครูและผู้เรียน เป็นแบบอย่างที่ดีเป็นผู้นำ และสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงต่อวงวิชาชีพ


กล่าวโดยสรุปมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะศึกษานิเทศก์ เป็นเรื่องสำคัญและกำหนดให้เป็นกรอบการประเมินฯ ตามหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งศึกษานิเทศก์ หรือ เกณฑ์ PA ศึกษานิเทศก์ จำเป็นต้องรู้และเข้าใจ ปฏิบัติ และพัฒนางาน ให้ตรงกับบทบาท หน้าที่ และระดับความคาดหวังในแต่ละตำแหน่งและวิทยฐานะนั้นๆ


บวร เทศารินทร์


อ้างอิงจากhttps://borworn.blog/2021/07/11/1772/

กล่องแสดงความคิดเห็น



บทความโดย พรณรงค์ ทรัพย์คง


พรณรงค์
พรณรงค์ ทรัพย์คง


IMG