สพป.จันทบุรี เขต 1

พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เขียนโดย Pornnarong Supkong - 24 ธันวาคม 2565 / พระยอดธง รุ่น "เก้ายอดจันทร์"

พระราชประวัติ

          สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า สิน ( ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน ) เป็นบุตรของขุนพัฒน์ ( นายหยง หรือ ไหฮอง แซ่อ๋อง บางตำราก็ว่า แซ่แต้ ) และ นางนกเอี้ยง ( กรมพระเทพามาตย์ ) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ มีนาคม พ.ศ. 2277 ในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมา เจ้าพระยาจักรีผู้มีตำแหน่งสมุหนายกเห็นบุคลิกลักษณะ จึงขอไปเลี้ยงไว้เหมือนบุตรบุญธรรม ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัยได้รับการศึกษาขั้นต้นจากสำนักวัดโกษาวาส (วัดคลัง ) และ บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 13 ขวบ ที่วัดสามพิหาร หลังจากสึกออกมาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ 21 ปีตามขนบประเพณี ของไทยบวชอยู่ 3 พรรษา หลังจากสึกออกมาได้เข้ารับราชการ ต่อ ณ. กรมมหาดไทยที่ศาลหลวงในกรมวัง ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากจนได้เป็นพระยาตาก ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นได้ถูกเรียกตัวเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อแต่งตั้งไปเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองคนเก่าที่ถึงแก่อนิจกรรมลงใน พ.ศ. 2310 ครั้นเจริญวัยวัฒนา ก็ได้ไปถวายตัวทำราชการกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความดีความชอบจนได้รับเลื่อนหน้าที่ราชการไปเป็นผู้ปกครองหัวหน้าฝ่ายเหนือคือ เมืองตาก และเรียกติดปากมาว่า พระยาตากสิน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครองราชย์สมบัติกรุงธนบุรีได้ 15 ปีเศษ ก็สิ้นพระชนม์มีชนมายุ 48 พรรษา กรุงธนบุรีมีกำหนดอายุกาลได้ 15 ปี



ผลงานอันสร้างชื่อ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์มีความสำคัญที่ชาวไทยไม่สามารถจะลืมในพระคุณงามความดีที่ทรงกอบกู้เอกราชเริ่มแต่ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2309 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจอ อัฐศก พระยาวชิรปราการ (ยศในขณะนั้น) เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่า จึงตัดสินใจรวบรวมทหารกล้าราว 500 คน ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่า โดยตั้งใจว่าจะกลับมากู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนให้ได้โดยเร็ว ทรงเข้ายึดเมืองจันทบุรี เริ่มสะสมเสบียงอาหาร อาวุธ กำลังทหาร เพื่อเข้าทำการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน นพศก จุลศักราช 1129 ตรงกับ พ.ศ.2310 และสมเด็จพระเจ้าตากสิน สามารถกู้กลับคืนมาได้ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก ซึ่งตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 รวมใช้เวลารวบรวมผู้คนจนเป็นทัพใหญ่กลับมากู้ชาติด้วยระยะเวลาเพียง 7 เดือนเท่านั้น เมื่อทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยพอสมควร บรรดาแม่ทัพ นายกอง ขุนนาง ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดทั้งสมณะพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรก 4 ค่ำ จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่เรียกขานพระนามของพระองค์ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระองค์ทรงมีทะแกล้วทหารหาญคู่พระทัยหลายคน เช่น พระยาพิชัยราชา (พระยาพิชัยดาบหัก) พระยาสุรสีห์ หรือนายสุดจินดา หรือพระยามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และบรรพบุรุษต้นตระกูลชาวไทยและต้นตระกูลชาวจันทบุรีมิใช่น้อยได้ร่วมชีวิตสนองพระเดชพระคุณ สมเด็จพระเจ้าตากสิน กู้ชาติ ศาสนาที่ล่มจมเป็นวิบัติครั้งนี้กลับคืนมาจากพม่าได้ด้วยการสู้รบกับพม่าอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ด้วยการเสียสละอดทนเอาเลือดเนื้อและความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้ ตลอดรัชกาลของ พระเจ้ากรุงธนบุรี ต้องทำศึกสงครามอีกหลายครั้ง จนปราบปรามชุมนุมที่ตั้งตนเป็นใหญ่ทั่วไปที่เหลืออีก ๕ ชุมนุม คือ
๑. ชุมนุมสุกี้ พระนายกอง เป็นชาวมอญอาสาสมัครพม่าคอยสอดส่องควบคุมและริบทรัพย์สินคนไทยที่แพ้พม่า และคนไทยที่จะกระด้างกระเดื่องแข็งข้อ ตั้งค่ายอยู่ที่โพธิ์สามต้น กรุงศรีอยุธยา
๒. ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) มีอาณาเขตตั้งแต่พิษณุโลกจรดนครสวรรค์ ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองพิษณุโลก
๓. ชุมนุมพระเจ้าพระฝาง ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองอุตรดิตถ์ มีอาณาเขตติดต่อไปจนถึงเมืองแพร่ และหลวงพระบาง
๔. ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพรถึงมลายู
๕. ชุมนุมกรมหมื่นเทพพิพิธ ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองพิมายนครราชสีมา พระองค์ทรงปราบปรามจนราบคาบ ต้องปราบปรามอริราชศัตรู และเสี้ยนหนามชาติไทย ทรงบากบั่นอุตสาหะมิได้เป็นแก่ความเหนื่อยยากแต่ประการใดทรงต่อสู้ความยากแค้นซึ่งคุกคามประชาราษฎร์ ต้องปราบปรามผู้ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่ไม่คิดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ต้องปราบปรามอริราชศัตรูอยู่เนือง ๆ พระชีวิตของพระองค์ เพื่อชาติและประเทศไทยโดยแท้จริง


พระราชกรณียกิจ
นอกจากพระราชกรณียกิจในด้านกู้ชาติแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสิน ยังได้ปราบอริราชศัตรูที่มักจะล่วงล้ำเขนแดนเข้ามาซ้ำเติมไทยยามศึกสงครามอยู่เสมอ จนในสมัยของพระองค์ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างไพศาล กล่าวคือ

- ทิศเหนือ ได้ดินแดนหลวงพระบาง และเวียงจันทน์

- ทิศใต้ ได้ดินแดนกะลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี

- ทิศตะวันออก ได้ดินแดนลาว เขมร ทางฝั่งแม่น้ำโขงจดอาณาเขตญวน

- ทิศตะวันตก จรดดินแดนเมาะตะมะ ได้ดินแดน เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี

พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการฟื้นฟูและสร้างวรรณกรรม นาฏศิลป์ และการละครขึ้นใหม่ แม้ว่าจะมีศึกสงครามตลอดรัชกาล กระนั้นก็ยังทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ถึง 4 เล่ม สมุดไทย ในปี พ.ศ.2312 นับว่าทรงมีอัจฉริยภาพสูงส่งเป็นอย่างมาก

พระเจ้าตากสิน ยังโปรดให้มีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การติดต่อการค้ากับต่างประเทศ ในด้านการปกครอง หลังจากสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ทรงจัดวางตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ทรงสอดส่องทุกข์สุขของราษฎร และหลังจากกอบกู้แผ่นดินได้แล้ว พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศมาจัดถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติและยังทรงรับอุปการะบรรดา เจ้าฟ้า พระองค์ฟ้า พระราชโอรส ตลอดทั้งพระเจ้าหลานเธอของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ ด้วยความกตัญญูกตเวที


รายละเอียดจุดสนใจ | Chatrium Golf Resort Soi Dao Chanthaburi



กล่องแสดงความคิดเห็น